ข้อกำหนดการผลิตพืชอินทรีย์มีอะไรบ้าง!!!




ข้อกำหนดการผลิตพืชอินทรีย์

การผลิตพืชอินทรีย์เดิม ข้อบังคับจะต้องให้เกษตรกรที่ทำการผลิตในระบบเกษตรเคมี เข้าสู่เกษตรอินทรีย์ ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนอย่งน้อย 3 ปี ปัจจุบันหลังจากมีงานวิจัยหลายเรื่องโดยเฉพาะงานวิจัยของ ดร.ชินทาโร่ ซึจิยาม่า และ ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน ได้ตีพิมพ์ผลงานวิชาการระดับนานาชาติเมื่อปี ค.ศ. 2000 เรื่องศักยภาพของเกษตรอินทรีย์ในประเทศเขตร้อน ซึ่งพบว่าประเทศเป็นประเทศเขตร้อนไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนถึง 3 ปี สามารถใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนเพียง 1 ปี 8 เดือน ก็เพียงพอ หลังจากนั้นข้อบังคับของการปลูกพืชอินทรีย์ จึงมีข้อกำหนดดังนี้
1.การปลูกพืชล้มลุก พื้นที่ที่จะปลูกพืชอินทรีย์ให้ปฏิบัติตามหลักการเกษตรอินทรีย์ คือ ปลูกพืช ในระบบเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย 12 เดือน พืชที่ปลูกในระยะนี้ให้เรียกว่าเป็นผลผลิตในระยะปรับเปลี่ยนและพืชที่ปลูกหลังจาก 12 เดือนไปแล้ว ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จึงจะถือว่าเป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ส่วนในกรณีพืชยืนต้น ต้องเป็นผลผลิตที่เกษตรกรผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ที่เก็บเกี่ยวได้หลังจากเข้าสู่กระบวนการผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย 18 เดือน ส่วนในพื้นที่ที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าไม่มีการใช้สารเคมียาวนาน สามารถลดระยะเวลาปรับเปลี่ยนได้ หรือหากพบว่ามีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น อาจเพิ่มระยะเวลาปรับเปลี่ยนได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยตรวจ รับรองนั้น ๆ
2.ในกรณีที่เกษตรกรไม่ได้เปลี่ยนพื้นที่เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งหมด เกษตรกรจะต้องแยกพื้นที่การผลิต และแยกชนิดการผลิตอย่างชัดเจน และมีแนวกันชนป้องกันการปนเปื้อนได้
3.พื้นที่ที่ได้รับรองเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับหลักการเกษตรอินทรีย์อย่างเคร่งคัด หากกลับไปผลิตในระบบเกษตรเคมี จะต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ ผลผลิตที่ได้จะกล่าวอ้างเป็นเกษตรอินทรีย์มิได้
4.เกษตรกรต้องมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ ในทุกทางทั้งทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ เช่น ทางดินต้องมีแนวกันชน หรือคันดินขนาดใหญ่ ทางน้ำต้องมีการบำบัดน้ำก่อนไหลเข้าแปลงเกษตรอินทรีย์ เช่น มีบ่อพักน้ำที่มีพืชน้ำที่ดูดซับสารเคมีได้ เช่น ผักตบชวา ผักบุ้ง ผักกระเฉด เป็นต้น ทางอากาศต้องมีพืชกันชน เช่น ไผ่ ไม้พุ่มขนาดเล็ก เป็นต้น
5.เกษตรกรต้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และมีการผลิตที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิต้องมีการปลูกพืชหมุนเวียน มีการใส่อินทรีย์วัตถุบำรุงดินสม่ำเสมอ มีการใช้สมุนไพรไล่แมลงอย่างเหมาะสม เป็นต้น
6.ส่วนการควบคุม หรือการป้องกันกำจัดแมลงต้องยึดหลักเกษตรอินทรีย์เป็นสำคัญ โดยอาจใช้การปลูกพืชพันธุ์ต้านทาน การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้วิธีเขตกรรม การไถ การใช้แรงคน การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ การใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน หรือการกำจัดวัชพืชโดยใช้สัตว์เลี้ยง อาทิ เลี้ยงเป็ดในนาข้าว เลี้ยงแพะในสวนผลไม้ เลี้ยงวัวในสวน เป็นต้น หากจำเป็นต้องกำจัดแมลงศัตรูพืช อาจใช้ไฟล่อ หรือกับดัก และหากจำเป็นต้องใช้สารไล่แมลง ให้ใช้สารไล่แมลงที่ผลิตจากพืชสมุนไพรได้ทั้งนี้ พืชสมุนไพรบางชนิดหน่วยตรวจรับรองบางหน่วยอาจเป็นข้อห้ามได้
7.เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ ต้องได้มาจากระบบการผลิตในแนวทางเกษตรอินทรีย์ หรือได้มาจากการผลิตที่ไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต หากหาไม่ได้จริงๆ ต้องสอบถามหน่วยตรวจรับรอง หรือหาหน่วยตรวจสอบรับรองไม่ได้ แต่ต้องการทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ จะต้องมีวิธีการกำจัดสารเคมีอย่างเหมาะสม เช่น ล้างด้วยน้ำอุ่นหลายๆ น้ำ
8.ในส่วนของการเก็บพืชผักจากป่า ต้องระบุแหล่งที่ไปเก็บอย่างชัดเจน และการเข้าไปเก็บจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แหล่งที่มา : หนังสือคู่มือการพัฒนาสินค้าสู่เกษตรอินทรีย์ โดยกลุ่มพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ

นางสาวรัตติกาล จิตรัตน์  5806401063

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทำไม? ต้องผักออแกนิค

"ปลูกอะไรถึงขายดี กำไรเยอะ"

ทำเกษตรบนคันดิน Hugelkultur